ผักกูดเป็นผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเฟิร์นที่สามารถกินได้ มีสารอาหารที่จำเป็นหลากหลายชนิด และผักกูดยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย เช่น ลดเบาหวาน กระตุ้นระบบประสาท ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการแพ้แบบรุนแรง ลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าพยาธิ ต้านแบคทีเรีย

ข้อมูลทั่วไปของผักกูด

ชื่อภาษาไทย: ผักกูด
ชื่อภาษาอังกฤษ: vegetable fern
ชื่อวิทยาศาสตร์: Diplazium esculentum
ส่วนสำคัญทางยา: ใบ ต้น ฟรอนด์ ราก เหง้า

ผักกูดเป็นผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเฟิร์นที่อยู่ในวงศ์ Athyriaceae มีสารชีวภาพหลายชนิดและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยทั่วไปแล้วผักกูดเป็นผักยอดนิยมที่บริโภคกันทั่วโลก เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ เนปาล จีน ไทย อินโดนีเซีย เป็นต้น ใบอ่อน(frond) มักใช้ในผัดผัก สลัด และซุป ใบอ่อนมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุนและรสชาติที่นุ่มนวล


คุณค่าทางโภชนาการ

  • ประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน ไฟเบอร์ ไขมัน และแร่ธาตุ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารหลักและสารอาหารรอง (macronutrient and micronutrient) ที่จำเป็นอีกหลายชนิด
  • อุดมไปด้วยสารอาหารรอง เบตาแคโรทีน กรดโฟลิก และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัส มีสารอาหารที่ไม่ดีด้วยเช่น กรดไฟติก ทริปซิน และแทนนินอยู่ แต่มีปริมาณน้อยเลยค่อนข้างปลอดภัย

สรรพคุณแผนโบราณ

สมัยดั้งเดิมมีการใช้ผักกูดเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไข้ทรพิษ โรคหอบหืด โรคท้องร่วง โรคไขข้อ โรคบิด อาการปวดศีรษะ อาการไข้ บาดแผล อาการปวด โรคหัด โรคความดันโลหิตสูง โรคท้องผูก ภาวะอสุจิน้อย กระดูกหัก และต่อมบวม

ใบ ต้น ฟรอนด์
ใช้เป็นยารักษาเบาหวาน แก้ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไข้ แผล บิด ต่อมบวม ท้องเสีย หัด ปวดฟัน ความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อผิวหนังต่างๆ ใบ ใช้ป้องกันสตรีมีครรภ์คลอดบุตรยาก ใช้ทาภายนอกบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อรักษากระดูกหัก ใช้เป็นยาระบาย ใช้เป็นยาฆ่าแมลง

ราก เหง้า
รักษาโรคอสุจิไหล โรคบิดในมนุษย์และโรคบิดในวัว การติดเชื้อและใช้เป็นยาแก้พิษ โรคไขข้อและไข้ทรพิษ ภาวะอสุจิน้อย อาการไอเป็นเลือดและอาการไอ


สรรพคุณทางยา

สรรพคุณผักกูด

ต้านเบาหวาน

  • นักวิจัยพบว่าเมื่อให้หนูกินสารสกัดจากผักกูดเป็นเวลา 21 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง นอกจากนี้การลดลงขึ้นกับปริมาณที่กินด้วย
  • โดยกลไกการลดเบาหวานเกิดจากการที่ยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับการย่อยคาร์โบไฮเดรต ส่งผลให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารอย่างชัดเจน ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับยาลดน้ำตาลในเลือด

กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง

  • นักวิจัยพบว่าเมื่อให้อาสาสมัครกินผักกูด สามารถป้องกันการการเสื่อมถอยของความสามารถในการรับรู้
  • นอกจากนี้การทดลองในหนูยังพบอีกว่าผักกูดยังกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางได้เมื่อเทียบกับกาแฟ โดยฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทก็จะมากตามปริมาณที่กิน

ปรับภูมิคุ้มกัน

  • นักวิจัยทดลองให้หนูกินสารสกัดจากผักกูดเป็นเวลา 180 วันแล้วพบว่าระบบภูมิคุ้มกันของหนูทำงานลดลง น้ำหนักหนูลดลงและมีม้ามเล็กลง
  • พูดง่ายๆ ว่าสามารถออกฤทธิ์คล้ายยากดภูมิคุ้มกัน เป็นประโยชน์ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายเราทำงานเยอะผิดปกติ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

ต้านอาการแพ้อย่างรุนแรง

  • สารสกัดผักกูดสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ได้โดยการทำให้เซลล์มาสต์(mast cells)ไม่แตก ทำให้ไม่หลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ออกมา

ต้านการอักเสบ แก้ปวด

  • นักวิจัยทดลองใช้สารสกัดจากผักกูด ฉีดให้หนูที่เท้าบวม พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดอาการปวด

สรรพคุณอื่นๆ

  • ฟรอนด์ ต้านอนุมูลอิสระ
  • ใบ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
  • ใบ ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัวทริพาโนโซมาซึ่งก่อให้เกิดโรคเหงาหลับ
  • เหง้า สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ สามารถทำให้พยาธิไส้เดือนตายได้
  • เหง้า/ราก ต้านแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในขณะที่สารสกัดจากใบไม่แสดงการยับยั้งใดๆ โดยสารสกัดที่ผสมกับยาปฏิชีวนะ มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว

ข้อควรระวัง

ข้อควรระวังผักกูด

  • มีการทดลองในเซลล์ตับของมนุษย์ แล้วพบว่าไม่เกิดความพิษต่อเซลล์
  • มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด แสดงว่าทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ระมัดระวังในคนเป็นโรคกระเพาะอาหาร และระมัดระวังการบริโภคผักกูดมากเกินไปหากเป็นโรคที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพราะอาจไปเสริมฤทธิ์กัน
  • ไม่ควรกินเยอะเกิน ข้อมูลอาจจะไม่ได้ชัดเจน แต่มีการทดลองในกุ้งโดยให้สารสกัดผักกูดลงไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ พบว่ายิ่งมากยิ่งทำให้กุ้งตาย เพราะฉะนั้นทานแต่พอดี
  • นอกจากนี้นักวิจัยมีการทดลองในหนูตัวผู้ พบว่าการให้หนูกินสารสกัดผักกูดเป็นเวลาต่อเนื่อง 6–8 สัปดาห์พบว่า การทำงานของระบบสืบพันธ์ค่อยๆ ลดลง อาจส่งผลต่อการสืบพันธ์ในอนาคตได้

สรุปคือการกินผักกูดในการกินอาหารปกติไม่ได้เกิดโทษอะไร แต่ระมัดระวังอย่ากินเยอะมากจนเกินไป นักวิจัยยังคงแนะนำว่าผักกูดเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า


การรับประทาน

กินดิบได้ไหม??

การกินผักกูดดิบหรือปรุงไม่สุกดี อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือปวดหัวได้ โดยอาการอาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือรุนแรง และมักจะคงอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจคงอยู่ได้นานถึง 3 วัน แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าอะไรทำให้เกิดอาการดังกล่าว แต่การปรุงอาหารให้สุกจะช่วยลดความเสี่ยงได้


Reference

  1. Semwal, Prabhakar et al. “Diplazium esculentum (Retz.) Sw.: Ethnomedicinal, Phytochemical, and Pharmacological Overview of the Himalayan Ferns.” Oxidative medicine and cellular longevity vol. 2021 1917890. 2 Sep. 2021, doi:10.1155/2021/1917890
  2. Fiddlehead Ferns: How This Unusual Vegetable Can Benefit Your Health (webmd.com)