รางจืดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักคือล้างสารพิษ(ถอนพิษ) แต่นอกจากนี้รางจืดยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องตับ ลดน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ หรือแม้กระทั่งช่วยยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับการแก่ ซึ่งถือเป็นพืชที่มีประโยชน์มากๆ อีกตัว นอกจากนี้ความเป็นพิษยังค่อนข้างต่ำ แต่สามารถส่งผลรบกวนการกินยาบางตัวได้

ข้อมูลทั่วไปของรางจืด

ชื่อภาษาไทย: รางจืด
ชื่อภาษาท้องถิ่นไทย: กำลังช้างเผือก เครือเขาเขียว ขอบชะนาง ยาเขียว(ภาคกลาง) คาย รางเย็น(ยะลา) จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า(ปัตตานี) ทิดพุด(นครศรีธรรมราช) น้ำนอง(สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ(เพชรบูรณ์)
ชื่อภาษาอังกฤษ: Trumpet vine, Laurel clockvine
ชื่อวิทยาศาสตร์: Thunbergia laurifolia
ส่วนสำคัญทางยา: ใบ เปลือกและราก แต่นิยมใบที่สุด

รางจืดเป็นพืชสมุนไพรประเภทไม้เลื้อยหรือไม้เถาในวงศ์เหงือกปลาหมอ(Acanthaceae) ดอกจะเป็นสีม่วงอ่อน ๆ มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ประเทศอินเดียและประเทศไทยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย


สรรพคุณแผนโบราณ

  • รากและใบใช้เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ยาถอนพิษไข้ ยาพอกบาดแผล ถอนพิษยาฆ่าแมลง แก้พิษแอลกอฮอล์ แก้อาการเมาค้าง และบรรเทาอาการผื่นแพ้
  • ที่ประเทศมาเลเซีย มีการนำน้ำคั้นจากใบมาต้มดื่มแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือใส่ในหูแก้หูหนวก และนำมาพอกแผลหรือฝี

สรรพคุณทางยา

สรรพคุณรางจืด

การล้างพิษ

  • รางจืดประสิทธิภาพในการล้างพิษสูงเมื่อเทียบกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ทันทีหลังจากได้รับสารพิษ
  • นักวิจัยให้หนูกินสารสกัดจากใบรางจืดก่อนไปเจอสารพิษ(แคดเมียม) แล้วพบว่าหนูที่กินสารสกัดจากรางจืด มีอาการผิดปกติน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้กินสารสกัดจากใบรางจืด
  • นอกจากนี้ยังพบว่าการกินสารสกัดรางจืดก่อนไปเจอสารพิษช่วยลดอาการผิดปกติได้มากกว่าการกินหลังจากเจอสารพิษ
  • เกษตรกรที่ได้กินยาแคปซูลรางจืด 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์สามารถลดพิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลงลงได้ชัดเจน

ต้านอนุมูลอิสระ

  • นักวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบรางจืดสามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ดี เนื่องจากพบสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูง
  • ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจะขึ้นกับวิธีการทำชาด้วย ชาที่ทำจากใบสด จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีกว่าชาที่ทำจากใบที่อบแห้ง ตากแดด และชาที่ขายตามท้องตลาด

ต้านการอักเสบ ระงับปวด และลดไข้

  • นักวิจัยเจอว่าเซลล์ที่อักเสบจากพยาธิใบไม้ในตับ มีการอักเสบลดลงหลังจากได้รับสารสกัดจากใบรางจืด ทั้งจากใบแห้งและใบสด
  • นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากใบรางจืดลดอาการอักเสบได้ทันทีในหนูที่หูบวมและเท้าบวม
  • มีฤทธิ์ลดไข้เนื่องจากสามารถลดอุณหภูมิร่างกายของหนูได้

ต้านเชื้อแบคทีเรีย

  • สารสกัดจากใบรางจืดสามารถยับยั้งเชื้อ Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรค เช่น คอหอยอักเสบ โรคตุ่มแผลพุพอง ไข้อีดำอีแดง โรคไฟลามทุ่ง เป็นต้น
  • นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ และชนิด บี และมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอชไอวีอ่อนๆ

ต้านเชื้อรา

  • นักวิจัยทดลองผสมสารสกัดรางจืดกับอาหารให้เป็ดที่ได้รับเชื้อราที่เป็นพิษต่อตับ(อะฟลาทอกซิน บี1) เทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับเชื้อราที่เป็นพิษต่อตับเช่นกันแต่ไม่ได้รับสารสกัดรางจืดพบว่า เป็ดกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดรางจืด มีเอนไซม์ตับเพิ่ม แสดงถึงความเป็นพิษต่อตับ และน้ำหนักตัวเป็ดลดลง จะเห็นว่าการกินสารสกัดรางจืดสามารถกำจัดพิษจากเชื้อราตัวนี้ได้

ปกป้องตับ

  • นักวิจัยที่ผสมสารสกัดรางจืดในอาหารเป็ดพบว่ารางจืดสามารถบรรเทาความเสียหายต่อตับจากการที่รางจืดสามารถเพิ่มเอนไซม์เผาผลาญ ทำให้ขับสารพิษได้มากขึ้น ลดพิษที่จะเกิดกับตับลง

ต้านเบาหวาน

  • สารสกัดจากใบรางจืดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากในใบมีสารคล้ายอินซูลินซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวลดน้ำตาลในเลือดโดยตรง

สรรพคุณทางเครื่องสำอาง

การแก่ก่อนวัยของผิวและการป้องกันความเสียหายของผิว

  • หลักการคร่าวๆ คือ สารที่พบในใบรางจืด เช่น กรดโรสมารินิก ฟลาโวนอยด์ และสารต้านอนุมูลอิสระนั้นสามารถยับยั้งกลุ่มเอนไซม์ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำให้แก่ได้ มีแนวโน้มที่สามารถใช้ประโยชน์ในวงการเครื่องสำอางในอนาคต

ข้อควรระวัง

ข้อควรระวังรางจืด

  • นักวิจัยที่ทำการทดลองให้หนูกินสารสกัดจากรางจืดในปริมาณต่างๆ เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าที่ปริมาณสูงสุดที่ให้หนูกินไม่ทำให้เกิดพิษสะสมและไม่ทำให้หนูตาย และไม่ทำให้อวัยวะภายในผิดปกติ แต่ทำให้หนูเพศผู้เม็ดเลือดแดงลดลงแต่ยังอยู่ในช่วงปกติ ส่วนหนูเพศเมียมีเม็ดเลือดขาวเพิ่ม แต่ยังอยู่ในช่วงปกติ หนูทั้งสองเพศมีระดับบิลลิรูบินเพิ่ม แต่ยังอยู่ในช่วงปกติ
  • ดังนั้นหากใครกินรางจืดปริมาณเยอะๆ ต่อเนื่องนานๆ ควรตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการความผิดปกติหรือไม่ ถ้าให้ดีไม่ควรกินเกิน 16–25 กรัมต่อวัน (ถ้าน้ำหนักตัวน้อยไม่เกิน 16 กรัม ถ้าน้ำหนักตัวเยอะกินไม่เกิน 25) และไม่ควรกินต่อเนื่องนานเกินไป

การรับประทานร่วมกับยาอื่น

  • อาจทำให้การเผาผลาญยาบางชนิดเร็วขึ้น(ขับยาอื่นออกเร็วขึ้น) ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของยาลงได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหากับยาที่ต้องกำหนดขนาดยาที่แม่นยำ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้อาจส่งผลต่อยาที่เป็นที่นิยมในการใช้ลดไขมัน เช่น ยากลุ่มสแตติน

วิธีรับประทานเป็นยา

ถอนพิษเบื่อเมา

กรณีที่รู้ตัวก่อนว่าจะไปเจอสารพิษแน่ๆ ให้กินก่อนที่จะไปเจอจะช่วยได้ดีกว่ากินทีหลัง

  • แบบชง: รับประทานครั้งละ 2–3 กรัม แช่น้ำร้อน 120–200 มิลลิลิตร (ครั้งแรกกินให้เร็วที่สุดเพื่อถอนพิษ) หลังจากนั้นกินเป็นเวลา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น
  • แบบแคปซูล: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม (ครั้งแรกกินให้เร็วที่สุดเพื่อถอนพิษ) หลังจากนั้นกินเป็นเวลา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

บรรเทาพิษยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนัก

กรณีที่รู้ตัวก่อนว่าจะไปเจอสารพิษแน่ๆ ให้กินก่อนที่จะไปเจอจะช่วยได้ดีกว่ากินทีหลัง

  • แบบชง: รับประทานครั้งละ 2–3 กรัม แช่น้ำร้อน 120–200 มิลลิลิตร (ครั้งแรกกินให้เร็วที่สุดเพื่อถอนพิษ) หลังจากนั้นกินเป็นเวลา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน

  • แบบชง: รับประทานครั้งละ 2–3 กรัม แช่น้ำร้อน 120–200 มิลลิลิตร หลังจากนั้นกินเป็นเวลา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือเมื่อมีอาการ
  • แบบแคปซูล: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม หลังจากนั้นกินเป็นเวลา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือเมื่อมีอาการ

วิธีทำชารางจืด

เลือกใบ

  • เลือกใบที่กำลังโตไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจะมีสารสำคัญทางยาเยอะที่สุด
  • ใช้ใบสดดีกว่าถ้าจะอบหรือตากแห้งทำให้สารสำคัญลดลงค่อนข้างเยอะ และชาจากใบสดให้กลิ่นที่ดีกว่าด้วย นอกจากนี้วิธีตากแห้งมีข้อเสียตรงที่เก็บไว้นานๆ สารสำคัญหายเร็วกว่าวิธีอื่น
  • ถ้าอยากเก็บใบไว้ใช้วันหลังแนะนำให้ใช้ไมโครเวฟในการทำให้แห้ง โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที แล้วค่อยเก็บ

วิธีทำ

  1. โขลกหรือบดใบรางจืดให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือละเอียด 2–3 กรัม
  2. เทน้ำร้อนใส่ทิ้งไว้เหมือนชาปิดฝาไว้สักหน่อยเพื่อให้สารสำคัญจากใบออกมาที่น้ำเยอะๆ สัก 15–30 นาทีหรือสังเกตจากสีว่ามีสีเข้มขึ้น
  3. ดื่มตามสะดวก

คุณภาพเมื่อเทียบกับชาที่ขายตามท้องตลาด

  • ชารางจืดจากใบสดมีแนวโน้มได้สารสำคัญมากกว่าชาในท้องตลาด เนื่องจากชาสดที่ใบยังสีเขียวอยู่ให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเยอะกว่าชาที่ทำจากใบอบแห้งที่ไม่มีสีเขียวเหลือแล้ว
  • ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชารางจืดจากวิธีที่ใช้ไมโครเวฟอบแห้งมากกว่าชารางจืดที่ขายในท้องตลาดถึง 6 เท่า (แต่เทียบกับแค่ยี่ห้อเดียว อาจต้องรอผลวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต)

Reference

  1. Junsi, Marasri & Siripongvutikorn, Sunisa. (2016). Thunbergia laurifolia, a traditional herbal tea of Thailand: Botanical, chemical composition, biological properties and processing influence. International Food Research Journal. 23. 923–927.
  2. Chan, Eric & Lim, Yau. (2006). Antioxidant activity of Thunbergia Laurifolia tea. Journal of Tropical Forest Science. 18.
  3. Chan, Eric & Eng, Suit Ying & Tan, Yuen & Wong, Zhiew & Lye, Phui & Tan, Lea Ngar. (2012). Antioxidant and Sensory Properties of Thai Herbal Teas with Emphasis on Thunbergia laurifolia Lindl. Chiang Mai Journal of Science. 39. 599.
  4. Songpol, Pranee, Aimmanas, Jaree, Songpol. (2009). Chronic Toxicity of Thunbergia Laurifolia Lindl. Extract. Journal of Thai Traditional & Alternative Medicine. Vol.7 №1 January-April 2009. 17–25.
  5. Pattananandecha, Thanawat, Sutasinee Apichai, Jakaphun Julsrigival, Malyn Ungsurungsie, Suched Samuhasaneetoo, Pat Chulasiri, Pakakrong Kwankhao, Supaporn Pitiporn, Fumihiko Ogata, Naohito Kawasaki, and et al. 2021. “Antioxidant Activity and Anti-Photoaging Effects on UVA-Irradiated Human Fibroblasts of Rosmarinic Acid Enriched Extract Prepared from Thunbergia laurifolia Leaves” Plants 10, no. 8: 1648. https://doi.org/10.3390/plants10081648
  6. Lumsangkul, Chompunut et al. “Antioxidative and Antimycotoxigenic Efficacies of Thunbergia laurifolia Lindl. for Addressing Aflatoxicosis in Cherry Valley Ducks.” Toxins vol. 16,8 334. 27 Jul. 2024, doi:10.3390/toxins16080334
  7. Urarat, Natthakarn, Kanjana, Piyanuch, Seewaboon, et al. “Effect of Thunbergia laurifolia Lindl. Extract on Anti-Inflammatory, Analgesic and Antipyretic Activity” Journal of the Medical Association of Thailand 100, Suppl.5 (Jun. 2017) S98-S106
  8. Chaiyana, Wantida et al. “Chemical Constituents, Antioxidant, Anti-MMPs, and Anti-Hyaluronidase Activities of Thunbergia laurifolia Lindl. Leaf Extracts for Skin Aging and Skin Damage Prevention.” Molecules (Basel, Switzerland) vol. 25,8 1923. 21 Apr. 2020, doi:10.3390/molecules25081923
  9. “National List of Essential Herbal Medicines.” Ministry of Public Health, 2023, https://moph.go.th/national-list-of-essential-herbal-medicines.
  10. รางจืด — วิกิพีเดีย (wikipedia.org)