กระเจี๊ยบแดงหรือกระเจี๊ยบเปรี้ยว เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาต้มกินเป็นเครื่องดื่ม แต่นอกจากจะดื่มเพื่อให้สดชื่นแล้ว กระเจี๊ยบแดงยังมีสรรพคุณ ประโยชน์ในทางการแพทย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลดความดัน ลดไขมัน ลดเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ปกป้องไต ปกป้องตับ ต้านแบคทีเรีย ซึ่งในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย พ.ศ.2566 จัดให้กระเจี๊ยบแดงอยู่ในยากลุ่มขับปัสสาวะและแก้ขัดเบา นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีก การกินกระเจี๊ยบแดงให้ได้ประโยชน์ควรกินในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลตามงานวิจัยต่างๆ ด้วย และไม่กินมากเกินจนส่งผลเสียต่อร่างกาย
ข้อมูลทั่วไป
- ชื่อภาษาอังกฤษ: Roselle
- ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus sabdariffa L. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE
- ชื่ออื่นๆ: ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มพอเหมาะ ส้มตะเลงเครง ส้มปู กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มพอดี ใบส้มม่า
- ส่วนสำคัญทางยา: กลีบเลี้ยง(calyces) ของดอกกระเจี๊ยบแดงหรือที่เราเห็นเป็นลูกแดงๆ เป็นส่วนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์มากที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ทางยา ได้แก่ สารกลุ่มกรดอินทรีย์ สารกลุ่มฟีนอลิก สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารกลุ่มแอนโธไซยานิน
สรรพคุณทางยา
ลดความดันโลหิต
- กระเจี๊ยบแดงสามารถลดความดันโลหิตได้ทั้งขณะหัวใจบีบตัวและขณะหัวใจคลายตัว
- มีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มชากระเจี๊ยบแดงวันละครั้งสามารถลดความดันโลหิตจาก 180/120 มิลลิเมตรปรอท เป็น 150/100 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้มีงานวิจัยอื่นๆ ที่มาช่วยยืนยันคือคนที่ดื่มชากระเจี๊ยบแดงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สามารถลดความดันขณะหัวใจบีบตัว ได้ 11.2% และลดความดันขณะหัวใจคลายตัวได้ 10.7%
- กินชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน ลดความดันโลหิตได้ร้อยละ 43.5 ทั้งขณะหัวใจบีบตัวและขณะหัวใจคลายตัว
- ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการกินชากระเจี๊ยบแดงเป็นประจำช่วยลดและควบคุมความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจได้โดยไม่ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
ลดเบาหวาน
- สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในคนที่สุขภาพดี คนที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน รวมไปถึงคนที่เป็นเบาหวาน โดยขนาดที่กินแต่ละงานวิจัยจะแตกต่างกันดังนี้
- ดื่มชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน สามารถลดระดับน้ำตาลสูงสุดจากเฉลี่ย 162.1 เป็น 112.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- คนที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ที่กินกระเจี๊ยบแดง 500 มิลลิกรัม/เม็ด 2 ครั้งต่อวัน พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลขณะอดอาหารได้
ลดไขมันและความอ้วน
- การกินกระเจี๊ยบแดงเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) และลดไขมันชนิดที่ไม่ดี โดยปริมาณการกินที่แตกต่างกันให้ผลลัพธ์เกี่ยวกับการลดไขมันดังนี้
- กินผงกระเจี๊ยบ 500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
- ดื่มชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน สามารถเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) และลดไขมันชนิดที่ไม่ดี เช่น ไขมันชนิดเลว (LDL)ไตรกลีเซอไรด์ (TG) และอะโปโปรตีน-บี100
- ดื่มชากระเจี๊ยบแดง 2 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150–240 มิลลิลิตร 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่อง 1 เดือน สามารถเพิ่มไขมันดี (HDL) และลดไขมันไม่ดีตัวอื่นๆ เช่น ไขมันชนิดเลว (LDL)ไตรกลีเซอไรด์ (TG) และอะโปโปรตีน-บี100
ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
- สามารถใช้เป็นยาสมุนไพร โดยมีการระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติชัดเจนในแง่ของการขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้หญิงที่กินยาเม็ดที่มีกระเจี๊ยบแดงผสมกับบอสเวลล์เลีย(จากต้นบอสเวลล์) เป็นเวลา 2 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่อง 7 วัน สามารถลดอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบและลดการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งผลลัพธ์คล้ายกับยาต้านแบคทีเรีย
- ผู้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะที่ดื่มเครื่องดื่มจากกระเจี๊ยบแดงลดโอกาสการกลับมาเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบซ้ำได้ถึง 36%
- ฤทธิ์ขับปัสสาวะ พบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีกระเจี๊ยบแดงสามารถขับปัสสาวะ ซึ่งมากน้อยตามปริมาณที่กิน แต่ไม่มีผลป้องกันนิ่วในไต
ลดไข้และต้านการอักเสบ
- โดยทำให้ตัวชี้วัดการก่อไข้และการอักเสบลดลง
- ผู้ป่วยที่ดื่มสารสกัดกระเจี๊ยบแดง สามารถลดระดับโปรตีนที่เป็นตัวชี้บ่งว่ามีการอักเสบได้ 23.2%
- นอกจากนี้ยังสามารถลดระดับโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบได้ในผู้ป่วยโรคไตที่เป็นเบาหวาน
ต้านมะเร็ง
- ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งโดยใช้หลักการเหนี่ยวนำการตายของเซลล์(apoptosis) ซึ่งกลไกนี้จะช่วยกำจัดเซลล์ที่เสียหายหรือผิดปกติที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
ปกป้องไต
- ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดงที่อาจส่งผลต่อไต ได้แก่ การทำงานของไตที่ดีขึ้นและผลต่อการขับกรดยูริก ในขณะที่ผลของยาขับปัสสาวะและการขับโซเดียมอาจส่งผลดีต่อความดันโลหิตสูง
- การทำงานของไต ผู้ที่กินสารสกัดแห้งของกระเจี๊ยบแดง 425 มิลลิกรัม (ที่มีสารแอนโทไซยานิน 5.5 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถช่วยการทำงานของไตในผู้ป่วยโรคไตที่เป็นเบาหวาน โดยทำให้ไตสามารถขับของเสียออกจากเลือดได้มากขึ้น
ปกป้องตับ
- ไขมันพอกตับ การกินสารสกัดกระเจี๊ยบแดง 450 มิลลิกรัม (แคปซูล) 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ สามารถลดการเกิดพังผืดในตับคือสามารถลดความเสียหายที่เกิดกับตับได้
โรคเกาต์และกรดยูริกสูง
- ผลต่อกรดยูริกในเลือด การศึกษาผลของการดื่มชากระเจี๊ยบแดง (ผง 1.5 กรัม ในน้ำร้อน 150 มล. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 15 วัน) ต่อคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่มีประวัตินิ่วในไต ทั้งสองกลุ่มพบว่ามีการขับออกซาเลต ซิเตรต และกรดยูริกเพิ่มขึ้น โดยมีผลชัดเจนยิ่งขึ้นในผู้ที่มีประวัตินิ่วในไต ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในการจัดการภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์
ต้านแบคทีเรีย
- ในการศึกษาในสัตว์ทดลองและห้องทดลองพบว่ากระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย แต่การศึกษาในคนค่อนข้างมีน้อย ต้องศึกษาเพิ่มมากกว่านี้
- ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย สารสกัดกระเจี๊ยบที่สกัดโดยใช้เมทานอล พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแบคทีเรียแกรมลบ โดยเฉพาะแบคทีเรียแกรมบวก
ปวดท้องประจำเดือน
- อาจจะช่วยอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เพราะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะดูเฉพาะอาการปวดท้องประจำเดือนอาจต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม
ปริมาณที่แนะนำ/ระยะเวลากิน
- เนื่องจากสมุนไพรในการทดลองจะมีการกินปริมาณที่แตกต่างกันมาก ทำให้ค่อนข้างยากที่จะระบุให้ชัดเจนว่าควรกินเท่าไร
ถ้าดูตามงานวิจัยการกินที่ง่ายที่สุดที่ครอบคลุมคือปริมาณกระเจี๊ยบ 2-3 กรัม ชงกับน้ำ(กินแบบชา)
- ขนาดการใช้สารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงที่ปลอดภัย คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน (ถ้าหนัก 50 กิโลกรัม คือไม่ควรกินเกิน 10 กรัมต่อวัน) และไม่กินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป
- การใช้ขนาดต่ำในระยะเวลาไม่เกิน 3–6 เดือน มีความเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
ข้อควรระวัง
- กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย
- ไม่ควรกินกระเจี๊ยบแดงเป็นเวลานานเนื่องจาก ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าเกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและอสุจิได้ นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร เพราะผลการศึกษาในสัตว์ทดลองทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง
- การกินปริมาณสูงมาก พบว่าถ้ากินปริมาณสูงมากๆ ที่ 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน (ถ้าน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณ 15 กรัมต่อวัน) โดยกินต่อเนื่อง 3 เดือน พบว่าอาจส่งผลเสียต่อเอนไซม์ในตับ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความเป็นพิษต่อตับได้
ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
ยาสมุนไพรไทย
- ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2566 กระเจี๊ยบแดงจัดอยู่ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ โดยใช้ผงจากส่วนกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง
- สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
- ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 2–3 กรัม ชงน้ำร้อน 120–200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
การรับประทานร่วมกับยาตัวอื่น
- อาจกระทบต่อยาบางตัวเช่น ramipril แต่อาจต้องดูงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยเมื่อใช้ร่วมกับยา
วิธีทำชากระเจี๊ยบแดง
กลีบเลี้ยงแห้งของกระเจี๊ยบแดงมักใช้ทำชาซึ่งเป็นชาที่ให้ความสดชื่น มีรสเปรี้ยวคล้ายแครนเบอร์รี่ (ในไทยนิยมต้มกับน้ำตาล แต่ขอให้ระวังเรื่องน้ำตาลเยอะไปจะยิ่งเสี่ยงเบาหวาน ดีที่สุดคือไม่ใส่น้ำตาลถ้าต้องการประโยชน์จริงๆ)
วัตถุดิบ
- ผงกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบแดง 2–3 กรัม
- น้ำเดือด
- น้ำตาล น้ำผึ้ง หรือสารให้ความหวานอื่นๆ(หรืออาจไม่ใส่)
วิธีทำ
- ใส่ผงกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบแดงลงไปในถ้วย
- เทน้ำร้อนลงไป
- ทิ้งไว้ 15 นาที หาฝาปิด
- อาจใส่น้ำตาล น้ำผึ้งเพิ่มตามใจชอบ
Reference
- Almajid A, Bazroon A, AlAhmed A, Bakhurji O. Exploring the Health Benefits and Therapeutic Potential of Roselle (Hibiscus sabdariffa) in Human Studies: A Comprehensive Review. Cureus. 2023 Nov 23;15(11):e49309. doi: 10.7759/cureus.49309. PMID: 38024072; PMCID: PMC10676230.
- Alarcón-Alonso J, Zamilpa A, Aguilar FA, Herrera-Ruiz M, Tortoriello J, Jimenez-Ferrer E. Pharmacological characterization of the diuretic effect of Hibiscus sabdariffa Linn (Malvaceae) extract. J Ethnopharmacol. 2012 Feb 15;139(3):751–6. doi: 10.1016/j.jep.2011.12.005. Epub 2011 Dec 13. PMID: 22178178.
- Jiménez-Ferrer E, Alarcón-Alonso J, Aguilar-Rojas A, Zamilpa A, Jiménez-Ferrer C I, Tortoriello J, Herrera-Ruiz M. Diuretic effect of compounds from Hibiscus sabdariffa by modulation of the aldosterone activity. Planta Med. 2012 Dec;78(18):1893–8. doi: 10.1055/s-0032–1327864. Epub 2012 Nov 13. PMID: 23150077.
- Roselle facts and health benefits (healthbenefitstimes.com)
- Roselle (plant) — Wikipedia
- Apoptosis in cancer — Carcinogenesis — Oxford Academic (oup.com)
- ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.