กล้วยดิบมีคุณสมบัติป้องกันแผลในกระเพาะ เนื่องจากมีสาร leucocyanidin (ลิวโคไซยานิดิน) ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่ง โดยสารชนิดนี้ช่วยปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหารและป้องกันแผลด้วยการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งช่วยทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่งเสริมการหลั่งเมือกซึ่งเมือกป้องกันไม่ให้กรดไปทำลายผนังกระเพาะอาหาร ยับยั้งการหลั่งกรด จึงรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้

infographic สรรพคุณและวิธีกินกล้วยดิบเพื่อรักษาโรคกระเพาะอาหาร


กล้วยดิบ

ผลของกล้วยดิบต่อสุขภาพ

  • ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการใช้ผงกล้วยดิบ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอาการหรือโรคทางระบบทางเดินอาหาร รองลงมาคือการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดหรืออินซูลิน การควบคุมน้ำหนัก และภาวะแทรกซ้อนของไตและตับที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน
  • งานวิจัยในผู้ใหญ่สุขภาพดีพบว่า ผงกล้วยดิบช่วยเพิ่มความอิ่มและรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือดได้
  • ในผู้ป่วยเบาหวาน ผงกล้วยดิบสามารถช่วยลดน้ำหนักตัวและเพิ่มความไวของอินซูลิน ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
  • ในผู้หญิงที่น้ำหนักเกิน การกินผงกล้วยดิบ ช่วยทำให้น้ำหนักและรูปร่างดีขึ้น ไขมันต่างๆ ดีขึ้น
  • ในกลุ่มเด็กพบว่าการกินผงกล้วยดิบ ช่วยทั้งท้องเสียและท้องผูก
  • นอกจากนี้ในกล้วยดิบยังมีไฟเบอร์(เส้นใย)ปริมาณมาก สามารถช่วยเรื่องการย่อยอาหารและสุขภาพโดยรวมของลำไส้ ทำให้กล้วยดิบสามารถเป็นยาจากธรรมชาติที่ใช้ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้

สรรพคุณ

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • บรรเทาอาการท้องเสีย (กรณีที่ไม่ติดเชื้อ)
  • ช่วยทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นจากการเพิ่มความไวของอินซูลิน

ส่วนที่ใช้

  • ผงจากกล้วยน้ำว้าดิบหรือผงจากกล้วยหักมุกดิบชนิดแก่จัด

ขนาดและวิธีใช้

  • รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงในน้ำร้อน 120–200 หรือประมาณ 1 แก้ว รับประทาน 3 เวลา ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

ข้อควรระวัง

  • อาจทำให้ท้องผูก ไม่ควรใช้กับผู้ที่ท้องผูกหรือผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
  • การรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดได้

Reference

  1. บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566. กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2023.
  2. Falcomer, Ana Luisa, Roberta Figueiredo Resende Riquette, Bernardo Romão de Lima, Verônica C. Ginani, and Renata Puppin Zandonadi. 2019. “Health Benefits of Green Banana Consumption: A Systematic Review” Nutrients 11, no. 6: 1222. https://doi.org/10.3390/nu11061222
  3. Jiwan S Sidhu, Tasleem A Zafar, Bioactive compounds in banana fruits and their health benefits, Food Quality and Safety, Volume 2, Issue 4, December 2018, Pages 183–188, https://doi.org/10.1093/fqsafe/fyy019
  4. Usman, Isah & Abdulkadir, Bashir & Raubilu, Ibrahim & A., Ahmad, & Kabir, Kamaluddeen. (2020). An Overview on the Healing Potentials of Musa sapientm (Banana) in the Treatment of Peptic Ulcer Disease. UMYU Journal of Microbiology Research (UJMR). 4. 31-35. 10.47430/ujmr.1942.006.