ตะไคร้เป็นพืชเขตร้อนที่รู้จักกันดีว่ามีกลิ่นหอมสดชื่นเฉพาะตัว ตะไคร้เป็นพืชที่นิยมใช้กันมากในการปรุงอาหาร ชา และใช้เป็นยาแผนโบราณ ตะไคร้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น รักษาโรคเหงือกอักเสบ โรคเกลื้อนและรังแค ลดริ้วรอย ลดการอักเสบ ลดความเครียด ลดความดันโลหิต รักษาไข้หวัดใหญ่ มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังเป็นที่นิยมใช้กันมากในการใช้เป็นยาไล่แมลงจากธรรมชาติ แต่ก็มีข้อควรระวังที่ควรรู้
ข้อมูลทั่วไปของตะไคร้
ชื่อภาษาไทย: ตะไคร้
ชื่อภาษาอังกฤษ: Lemongrass, Citronella, Squinant
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cymbopogon citratus
ชื่อภาษาถิ่น: จะไคร, จั๊กไคร(ภาคเหนือ), หัวซิงไค(ภาคอีสาน), ไคร(ภาคใต้), คาหอม(แม่ฮ่องสอน), เชิดเกรย, เหลอะเกรย(เขมร-สุรินทร์), ห่อวอตะโป่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ส่วนที่ใช้: ใบและต้นทั้งหมด
ตะไคร้เป็นพืชที่มีลำต้นสูง มีใบเรียวสีเขียวสดใส ซึ่งอาจสูงได้ถึง 3 ฟุต ใบมีกลิ่นมะนาวฉุน และมักใช้แบบสดหรือตากแห้งในการทำอาหารและชงเป็นชา ส่วนโคนของต้นตะไคร้จะมีลักษณะคล้ายต้นหอม โดยมีก้านสีขาวเป็นหัว
สรรพคุณแผนโบราณ
ในเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีการนำใบตะไคร้มาทำเป็นชาหรือยาต้ม มีสารสำคัญซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ ช่วยเรื่องอาหารไม่ย่อย ลดไข้ คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด คลายเครียด และขับปัสสาวะ สามารถใช้เป็นสารระงับกลิ่นกายในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำหอม สบู่ เทียน และสามารถใช้ไล่แมลง นอกจากนี้ยังมีการใช้ไล่งูและสัตว์เลื้อยคลานในบางพื้นที่ของเอเชียและแอฟริกาอีกด้วย เชื่อกันว่าการดื่มชาตะไคร้เป็นประจำจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังใช้เพื่อบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งด้วย
สรรพคุณทางยา
โรคเหงือกอักเสบ
งานวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยตะไคร้สามารถใช้เป็นทางเลือกแทนน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน(chlorhexidine)ได้ เพราะมีประสิทธิภาพในการลดคราบพลัค โรคเหงือกอักเสบ และกลิ่นปาก นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรังระดับปานกลาง การใช้ยาบ้วนปากที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หลังการขูดหินปูนและเกลารากฟันทำให้แบคทีเรียในช่องปากลดลงด้วย
โรคเกลื้อนและรังแค
น้ำมันหอมระเหยตะไคร้สามารถรักษาโรคเกลื้อนและรังแคที่เกิดจากยีสต์ที่ชื่อ มาลาซีเซีย(Malassezia) ได้
ดูแลผิว ลดริ้วรอย ลดการอักเสบของผิว
น้ำมันหอมระเหยตะไคร้ มีประสิทธิภาพในการดูแลผิวเนื่องจากมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ทรานส์ซิทรัลและเนอรัล มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างเห็นได้ชัด เมื่อทาเฉพาะที่ จะช่วยรักษาอาการต่างๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ และปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอย ริ้วรอยจากแสงแดด และผิวแห้ง นอกจากนี้ยังสามารถลดความหยาบกร้านและการอักเสบของผิวได้ด้วยการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายโครงสร้างของผิว
ลดความเครียด
ผู้ที่ได้รับกลิ่นตะไคร้หอม (3 หรือ 6 หยด) พบว่าความวิตกกังวลและความเครียดลดลงทันทีเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับกลิ่น ถึงแม้ว่าบางคนจะแสดงความวิตกกังวลระหว่างทำกิจกรรม แต่ก็ฟื้นตัวได้ภายใน 5 นาที ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับกลิ่นตะไคร้ ซึ่งคล้ายกับการทำงานของไดอะซีแพม(ยาคลายความวิตก)
ลดความดันโลหิต
ผลของยาต้มตะไคร้ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูง งานวิจัยนี้ศึกษาในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 31 คน โดยรับประทานยาต้มตะไคร้ 250 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ายาต้มตะไคร้สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
รักษาไข้หวัดใหญ่
จากงานวิจัยที่ทดลองในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ พบว่าตะไคร้สามารถลดอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และสามารถลดระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดใหญ่ด้วย
สรรพคุณอื่นๆ
- ต้านอนุมูลอิสระ: ตะไคร้มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระดีกว่าผักชี ขิง มะเขือเทศ และกระเทียม แต่น้อยกว่าขมิ้น ยี่หร่าและผงกะหรี่แห้ง
- ฤทธิ์ลดอาการปวด: มีการศึกษาในหนู โดยให้หนูกินใบตะไคร้ พบว่าสามารถลดอาการปวดในหนูได้
- บำรุงหัวใจ: ตะไคร้มีประโยชน์ในการปกป้องหัวใจและสามารถช่วยลดกระบวนการที่เป็นอันตรายซึ่งเกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระ โดยการช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เมื่อใช้ในปริมาณ 200 มก./กก. ต่อน้ำหนักตัว ผลของตะไคร้จะเทียบได้กับวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่รู้จักกันดี
- นอกจากนี้ตะไคร้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คลายหลอดเลือด ขับปัสสาวะ รักษาโรคกลาก รักษาอาการทางประสาท ระบบทางเดินอาหาร และไข้ แต่ต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพ
ข้อควรระวัง
- โดยทั่วไปแล้วตะไคร้หอมปลอดภัยเมื่อรับประทานหรือใช้ภายนอกและในการบำบัดด้วยกลิ่นหอม(aromatherapy) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ เช่น การปนเปื้อนของดินและการใช้อย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดผลเสียได้
- น้ำมันตะไคร้ใช้เป็นสารขับไล่แมลง แต่หากกินเข้าไปอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ปอดเสียหาย และอาจเกิดพิษในเด็กได้
- ตะไคร้สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ผิวหนัง โรคถุงลมอักเสบจากพิษเมื่อสูดดม และเพิ่มระดับอะไมเลสและบิลิรูบิน
- แม้จะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูก
ประโยชน์ด้านอื่นๆ
- สารไล่ยุง: น้ำมันตะไคร้หอมมีตะไคร้หอมซึ่งเป็นสารไล่แมลงตามธรรมชาติที่รู้จักกันดี น้ำมันตะไคร้หอมสามารถช่วยป้องกันยุงและแมลงกัดต่อยอื่นๆ ได้เมื่อทาหรือใส่ในเทียนหรือสเปรย์
- การบำบัดด้วยกลิ่นหอม: น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมเป็นที่นิยมในอะโรมาเทอราพีเนื่องจากมีกลิ่นหอมสดชื่น เชื่อกันว่าตะไคร้หอมช่วยทำให้จิตใจสงบและลดความเครียด
- การใช้ประโยชน์ในการทำอาหาร: ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะในอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหารและเครื่องดื่ม
Reference
- Nambiar, Vanisha & Matela, Hema. (2012). Potential Functions of Lemon Grass (Cymbopogon citratus) in Health and Disease. International Journal of Pharmaceutical & Biological Archives 0976–3333. 2012; 3(5):1035–1043.
- Shah G, Shri R, Panchal V, Sharma N, Singh B, Mann AS. Scientific basis for the therapeutic use of Cymbopogon citratus, stapf (Lemon grass). J Adv Pharm Technol Res. 2011 Jan;2(1):3–8. doi: 10.4103/2231–4040.79796. PMID: 22171285; PMCID: PMC3217679.
- Kusuma IY, Perdana MI, Vágvölgyi C, Csupor D, Takó M. Exploring the Clinical Applications of Lemongrass Essential Oil: A Scoping Review. Pharmaceuticals. 2024; 17(2):159. https://doi.org/10.3390/ph17020159
- Lulekal E, Tesfaye S, Gebrechristos S, Dires K, Zenebe T, Zegeye N, Feleke G, Kassahun A, Shiferaw Y, Mekonnen A. Phytochemical analysis and evaluation of skin irritation, acute and sub-acute toxicity of Cymbopogon citratus essential oil in mice and rabbits. Toxicol Rep. 2019 Nov 4;6:1289–1294. doi: 10.1016/j.toxrep.2019.11.002. PMID: 31867219; PMCID: PMC6906703.
- Tibenda JJ, Yi Q, Wang X, Zhao Q. Review of phytomedicine, phytochemistry, ethnopharmacology, toxicology, and pharmacological activities of Cymbopogon genus. Front Pharmacol. 2022 Aug 29;13:997918. doi: 10.3389/fphar.2022.997918. Erratum in: Front Pharmacol. 2022 Dec 07;13:1109233. doi: 10.3389/fphar.2022.1109233. PMID: 36105217; PMCID: PMC9465289.
- Seema Pradeep, Mahesh C.D and Pravina Koteshwar 2020. RANDOMIZED DOUBLE BLIND PLACEBO CONTROLLED CLINICAL STUDY OF CYMBOPOGAN CITRATUS IN INFLUENZA. AYUSHDHARA. 7, 2 (Jun. 2020), 2643–2655. DOI:https://doi.org/10.47070/ayushdhara.v7i2.539.
- Goes, T. C., Ursulino, F. R. C., Almeida-Souza, T. H., Alves, P. B., & Teixeira-Silva, F. (2015). Effect of Lemongrass Aroma on Experimental Anxiety in Humans. The Journal of Alternative and Complementary Medicine, 21(12), 766–773. doi:10.1089/acm.2015.0099