ใบบัวบก เป็นสมุนไพรยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย มักเรียกกันว่า สมุนไพรแห่งการมีอายุยืนยาว เนื่องจากมีการใช้กันมาอย่างยาวนานในการบำรุงสุขภาพ ใบบัวบกเป็นที่รู้จักในสรรพคุณสมานแผล แต่นอกจากการสมานแผลแล้วบัวบกยังมีสรรพคุณอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมาก ปัจจุบันมีการนำบัวบกมาในชีวิตประจำวัน เช่น ทำน้ำสมุนไพรใบบัวบก ทำอาหารเสริม และยาทาภายนอก

ข้อมูลทั่วไปของบัวบก

ชื่อภาษาไทย: บัวบก ใบบัวบก
ชื่อภาษาถิ่น: ผักหนอก(ภาคเหนือ) ปะหนะเอขาเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ผักแว่น
ชื่อภาษาอังกฤษ: Gotu kola, Asiatic pennywort, Indian pennywort, Indian water navelwort
ชื่อวิทยาศาสตร์: Centella asiatica
ส่วนสำคัญทางยา: ส่วนใหญ่จะใช้ใบเป็นหลักหรือส่วนที่เหนือดินขึ้นมา

ใบบัวบกเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีใบรูปพัดสีเขียว อยู่ในวงศ์ผักชี Umbellifere (Apiceae) มีดอกสีขาวหรือม่วงอ่อนขนาดเล็กและเติบโตแบบเลื้อยไปตามพื้นดิน พืชชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มักพบใกล้แหล่งน้ำ เช่น บ่อน้ำและหนองบึง


สรรพคุณแผนโบราณ

สมัยก่อนช่วงศตวรรษที่ 19 บัวบกและสารสกัดจากบัวบกมีอยู่ในตำรายาอินเดีย ซึ่งนอกจากการรักษาบาดแผลแล้ว ยังแนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น โรคเรื้อน โรคลูปัส แผลขอด โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคท้องร่วง ไข้ ประจำเดือนไม่มา และโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะในผู้หญิง

มีการใช้บัวบกทั้งต้นในทางการแพทย์ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการฟอกเลือด รวมถึงการรักษาความดันโลหิตสูง เพื่อเพิ่มความจำ และส่งเสริมการมีอายุยืนยาว บัวบกเป็นหนึ่งในสมุนไพรหลักในการฟื้นฟูเส้นประสาทและเซลล์สมอง หมอตะวันออกใช้บัวบกในการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า ซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากปัญหาทางกายภาพ ในการแพทย์ตะวันตก ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 บัวบกและสารสกัดแอลกอฮอล์ของบัวบกมีรายงานว่าสามารถรักษาโรคเรื้อนได้ด้วย


สรรพคุณทางยา

สรรพคุณบัวบก

รักษาแผล ลดการอักเสบ

สารสกัดจากบัวบกสามารถช่วยให้แผลหายดีขึ้น หลักๆ จากสารสำคัญที่ชื่อว่าสารเอเชียติโคไซด์(asiaticoside) โดยจะไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเพิ่มหลอดเลือดมาเลี้ยงที่แผล ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังลดการอักเสบร่วมด้วย

  • กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน: คอลลาเจนจะอยู่ใต้ผิวหนังจะเปรียบเสมือนด้ายที่ร้อยใยผ้าคอยยึดโยงให้ผิวหนังเราแข็งแรง เพราะฉะนั้นการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนจะช่วยซ่อมแซมผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแข็งแรงได้เร็วขึ้น
  • เพิ่มหลอดเลือดมาเลี้ยงที่แผล: ปกติแล้วหลอดเลือดจะเป็นตัวส่งสารอาหาร ออกซิเจนมาที่แผล การที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงที่แผลเพิ่มเท่ากับว่ามีสารอาหารต่างๆ มาที่แผลเยอะขึ้น ทำให้ฟื้นฟูแผลได้เร็วขึ้น
  • เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ: อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายเราจะไม่ดีตรงที่สามารถทำลายเซลล์ต่างๆ รวมถึงส่งผลให้แผลเราหายช้าด้วย เพราะฉะนั้น การเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระจึงมีส่วนช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ลดการอักเสบ: โดยการลดเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ซึ่งเซลล์นี้เมื่อมีการบาดเจ็บจะเพิ่มการอักเสบและการแข็งตัวของเลือด เมื่อสารสกัดบัวบกลดเซลล์นี้ได้จะทำให้การอักเสบลดลงและลดการแข็งตัวของเลือดทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ลดอาการบวมและเจ็บ: จากการที่ทำให้หลอดเลือดดำไหลเวียนดีขึ้น ทำให้เลือดไม่คั่งอยู่บางจุดซึ่งทำให้บวมเจ็บ

จากงานวิจัยพบด้วยว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นเจลจะให้ผลการรักษาแผลที่ดีที่สุด

ลดการเกิดแผลเป็น ลอยแตกลาย

  • จากการที่สารสกัดบัวบกลดกระบวนการอักเสบที่ทำให้กระตุ้นให้เกิดแผลเป็น นอกจากนี้ทำให้เส้นเลือดฝอยส่งเลือดไปเลี้ยงที่แผลดีขึ้น คุณภาพในการฟื้นฟูแผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ช่วยลดการเกิดแผลเป็นลงได้
  • ยาทาบัวบกช่วยลดการเกิดแผลเป็นระหว่างการรักษาแผล โดยการลดการอักเสบลงซึ่งจะไปลดเซลล์ myofibroblasts ซึ่งปกติเซลล์นี้จะรับผิดชอบในการปิดแผล หากเซลล์นี้ทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็นขึ้น สารสกัดบัวบกจึงส่งเสริมให้เป็นแผลเป็นน้อยลง
  • นอกจากนี้ยังพบว่าบัวบกสามารถลดลอยแตกลายที่เกิดตอนตั้งครรภ์ได้ด้วย

เรียกได้ว่าบัวบกเป็นประโยชน์ในการรักษาแผลในทุกๆ ขั้นตอนของการซ่อมแซมเลยก็ว่าได้ คือสามารถทาได้ตั้งแต่แผลสดไปจนถึงแผลหาย

การทำงานของสมองและอารมณ์

งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบบัวบก ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองและอารมณ์ โดยให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเมื่อใช้ในปริมาณ 750 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังช่วยลดความวิตกกังวลและเพิ่มการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย ช่วยปรับปรุงภาวะซึมเศร้าและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น ความดันโลหิตสูงและนอนไม่หลับ

ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีสารอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ในสมองน้อยกว่าคนปกติ ซึ่งสารสกัดจากใบบัวบกนั้นช่วยลดการทำลายสารตัวนี้ ทำให้สารตัวนี้มีอยู่ในสมองมากขึ้นด้วย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นประโยชน์ในการพัฒนายาอัลไซเมอร์จากใบบัวบกในอนาคตด้วย


สรรพคุณอื่นๆ

  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร: ช่วยปกป้องแผลในกระเพาะได้อย่างมีนัยสำคัญและช่วยหลั่งเมือกในกระเพาะอาหารได้ดีขึ้นร่วมกับมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ
  • ต้านโรคลมชัก: ช่วยลดความรุนแรงของอาการชักและปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากอาการชัก โดยอาการชักลดลงและประสิทธิภาพในการทดสอบความจำดีขึ้น
  • ลดความเจ็บปวด ต้านการอักเสบ: สารสกัดบัวบกมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบในหนูทดลอง ซึ่งคล้ายกับแอสไพรินแต่มีฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีน ช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ในหนู ลดการอักเสบ และปกป้องข้อต่อไม่ให้ได้รับความเสียหาย
  • โรคอื่นๆ: ต่อต้านไวรัสเริม และมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกในเซลล์มะเร็งบางชนิดและในหนูโดยไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ปกติ

ข้อควรระวัง

ข้อควรระวังบัวบก

  • บัวบก โดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่แนะนำ แต่หากใช้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง มวนท้อง ท้องอืด ปัสสาวะบ่อย เวียนศีรษะ และง่วงนอนมาก ในบางครั้งเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้น เช่น อาการแพ้
  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้เนื่องจากอาจมีความเสี่ยง
  • ควรจำกัดการใช้เป็นระยะเวลานานไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยเว้นระยะเวลาการใช้ 2 สัปดาห์ การใช้บัวบกนาน 20–60 วัน อาจทําให้เกิดความเป็นพิษต่อตับได้
  • การศึกษาในสัตว์แสดงให้เห็นว่าใบบัวบกสามารถใช้ได้ดีเมื่อใช้ในปริมาณปกติ แต่หากใช้ในปริมาณมากอาจเป็นพิษได้
  • ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกเนื่องจากอาจไปบดบังอาการได้
  • บัวบกอยู่ในวงศ์ผักชี หากใครแพ้ผักชนิดนี้ก็ไม่ควรกินบัวบกด้วย

การรับประทานร่วมกับยา

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าบัวบกตีกับยาแบบชัดเจน แต่เนื่องจากการกินบัวบกในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ จึงมีคำเตือนว่าผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ร่วมกับยาที่ช่วยให้นอนหลับหรือลดความวิตกกังวล โดยเฉพาะหากต้องขับรถ นอกจากนี้ในทางทฤษฎีคาดว่าบัวบกทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเพิ่มไขมันในเลือดด้วย


ยาบัวบก

ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ปี 2566 ประกาศให้บัวบกมีข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้

แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน

  • ชนิดชง: รับประทานครั้งละ 2–4 ชงแช่น้ำร้อนประมาณ 120–200 มิลลิลิตร นาน 10 นาที รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

  • ชนิดแคปซูล: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

ใช้สมานแผล

  • ยาทา: ทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทายา ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล วันละ 1–3 ครั้ง

วิธีทำน้ำใบบัวบก

วัตถุดิบ:

  • ใบบัวบกแห้ง 1 ถึง 2 ช้อนชา (หรือใบสด 1 กำมือ)
  • น้ำร้อน 1 ถ้วย
  • น้ำผึ้งหรือมะนาว (ไม่จำเป็น แล้วแต่ชอบ)

วิธีทำ:

  1. ต้มน้ำจนเดือด
  2. ใส่ใบบัวบกแห้งหรือสดลงในน้ำเดือด
  3. ทิ้งไว้ประมาณ 5 ถึง 10 นาที
  4. กรอง แยกใบบัวบกออก
  5. เติมสารอื่นๆ เช่น น้ำผึ้งหรือมะนาวเพื่อรสชาติเพิ่มเติมถ้าชอบ

Reference

  1. Gohil KJ, Patel JA, Gajjar AK. Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all. Indian J Pharm Sci. 2010 Sep;72(5):546–56. doi: 10.4103/0250–474X.78519. PMID: 21694984; PMCID: PMC3116297.
  2. บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566. กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2023.