อัญชัน (Butterfly Pea) เป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดอกสีฟ้าสดใส มักใช้ในชา อาหาร และยาแผนโบราณ อัญชันมีสรรพคุณหลากหลาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลหลังอาหาร ลดไขมันในเลือด ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง นอกจากนี้ยังสามารถบำรุงผมและผิวอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไปของอัญชัน
ชื่อภาษาไทย: อัญชัน
ชื่อภาษาอังกฤษ: Butterfly Pea, Blue Pea, Blue Vine, Pigeon Wings, Mussel Shell
ชื่อวิทยาศาสตร์: Clitoria ternatea
ชื่อภาษาถิ่น: แดงชัน(เชียงใหม่), เอื้องชัน, เองชัญ
ส่วนที่ใช้: ส่วนที่นิยมใช้กันมากที่สุดของอัญชันคือส่วนดอก ซึ่งมีสีฟ้าสดใส นิยมใช้ทำชา เครื่องดื่ม และอาหารต่างๆ เนื่องจากมีสีสันสวยงามและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ รากและใบยังใช้ในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคต่างๆ อีกด้วย
สรรพคุณแผนโบราณ
ดอกอัญชัน ใช้เป็นยาอายุรเวชแบบดั้งเดิม ถูกใช้มานานหลายศตวรรษเป็นยาเสริมความจำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ยาคลายเครียด ยาคลายความวิตกกังวล ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากันชัก และเป็นยาที่ช่วยสงบประสาท
สรรพคุณทางยา
ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร
- ผู้ที่กินสารสกัดดอกอัญชัน 1–2 กรัม พร้อมกับน้ำตาล พบว่าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินหลังอาหารลดลง และไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในภาวะอดอาหารด้วย
- ซึ่งหมายความว่าหลังจากรับประทานสารสกัดดอกอัญชันร่วมกับน้ำตาล ระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินจะไม่พุ่งสูงเท่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายรักษาระดับพลังงานให้คงที่ ป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงต่อการดื้อต่ออินซูลินและโรคเบาหวาน
ต้านอนุมูลอิสระ
- สารสกัดดอกอัญชัน ช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดและลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังป้องกันผลของน้ำตาลที่ส่งผลเสียต่ออนุมูลอิสระอีกด้วย
ลดอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่เคยเป็นโควิด-19
- งานวิจัยที่ทำในผู้ป่วยที่นอนไม่หลับหลังจากเป็นโควิด-19 พบว่า การดื่มเครื่องดื่มดอกอัญชันช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ
ลดระดับไขมันในเลือด
- สารสกัดดอกอัญชันช่วยลดระดับไขมันในเลือดหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ต่างๆ (ช่วยย่อยอาหาร สร้างโมเลกุล และอื่นๆ อีกมากมาย) ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
- สารสกัดดอกอัญชันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการจัดการระดับไขมันและป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระในผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูง
สรรพคุณอื่นๆ
- อัญชันมีสรรพคุณในด้านอื่นๆ อีก เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นสมอง ป้องกันอาการชัก ป้องกันอาการซึมเศร้า แก้กังวล แก้เครียด ต้านการอักเสบ ลดไขมันในเลือดสูง ต้านเบาหวาน แก้ปวด ลดการทำลายเซลล์ ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และปกป้องตับ
สรรพคุณทางเครื่องสำอาง
- ลดการหลุดร่วงของเส้นผม: สารสกัดเอทานอลของดอกอัญชันช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมและเส้นขนได้ โดยไปยับยั้งสารที่ทำลายการงอกของเส้นผม
- ชะลอผมหงอกก่อนวัย: เนื่องจากสามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินในผมได้ และสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ช่วยสร้างเม็ดสีด้วย
- บำรุงผิว: เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายและแก่ก่อนวัยได้
ข้อควรระวัง
- การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดอกอัญชัน ระบุว่าโดยทั่วไปแล้วดอกอัญชันจะมีพิษในระดับต่ำเมื่อรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
- อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาวิจัยในสัตว์พบว่า การรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาจเป็นพิษต่อตับและไต นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเฉื่อยชา อาการซึมเศร้า ดังนั้นควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจึงจะดีที่สุด
Reference
- Khatib, A., Tofrizal, -, & Arisanty, D. (2024). Toxicity Effects of Clitoria ternatea L. Extract in Liver and Kidney Histopathological Examination in Mus Musculus. IIUM Medical Journal Malaysia, 23(01).
- Kamilla, L., Ramanathan, S., & Mansor, S. M. (2023). Toxicity evaluation of methanol extract of Clitoria ternatea L. leaf. Center for Drug Research, Universiti Sains Malaysia.
- Chusak C, Thilavech T, Henry CJ, Adisakwattana S. Acute effect of Clitoria ternatea flower beverage on glycemic response and antioxidant capacity in healthy subjects: a randomized crossover trial. BMC Complement Altern Med. 2018 Jan 8;18(1):6. doi: 10.1186/s12906–017–2075–7. PMID: 29310631; PMCID: PMC5759795.
- Thilavech, Thavaree, Sirichai Adisakwattana, Pilailak Channuwong, Korntima Radarit, Kanthida Jantarapat, Kittisak Ngewlai, Nantarat Sonprasan, and Charoonsri Chusak. 2021. “Clitoria ternatea Flower Extract Attenuates Postprandial Lipemia and Increases Plasma Antioxidant Status Responses to a High-Fat Meal Challenge in Overweight and Obese Participants” Biology 10, no. 10: 975.
- Mahapatra, Sandipa & Mahapatra, Manaswini & Sahoo, Jyoti. (2024). Unveiling the Medicinal Activity and Potential Health Benefits of Butterfly Pea (Clitoria ternatea). 10.13140/RG.2.2.21204.21121.
- Solihati, S., & Kusumastuti, N. A. (2023). The Effect of Clitoria Ternatea’s Drink on Insomnia in Post COVID-19 Patients. Journal of Health Promotion and Behavior, 8(1), 13–21.