พาราเซตามอล หรือเรียกอีกอย่างว่า อะเซตามิโนเฟน เริ่มใช้ครั้งแรกในคนตั้งแต่ปี 1887 ถึงปัจจุบัน ซึ่งพูดได้เลยว่าเป็นยาที่มีประวัติมาค่อนข้างนาน เรียกได้ว่าข้อมูลของยาพาราเซตามอลที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั้นมากมาย เนื่องจากเป็นยาที่นิยมใช้ที่สุด แต่สิ่งที่เราควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล เพื่อที่จะใช้พาราเซตามอลให้ปลอดภัยมีดังนี้

1. ยาพาราเซตามอลช่วยเรื่อง?

  • ยาพาราเซตามอลช่วยเรื่องแก้ปวดและลดไข้ ในระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง
  • ยาพาราเซตามอลมักเป็นยาตัวเลือกแรกที่ใช้ในการลดไข้ แก้ปวดเนื่องจากผลข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่น โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร และโรคไต

2. ปวดแบบไหนใช้ไม่ได้?

  • ยาพาราเซตามอลไม่มีฤทธิ์ลดอักเสบ ไม่เหมาะกับพวกปวดข้อที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบ การบาดเจ็บต่างๆ

3. ปัญหาที่พบบ่อยของการใช้ยาพาราเซตามอล

  • ปัญหาที่พบบ่อยของการใช้ยาพาราเซตามอลคือใช้เกินขนาด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อตับอย่างรุนแรงได้ ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้ยาที่สูงขึ้น
  • นอกจากนี้ยาแก้ปวดที่ขายปัจจุบันจะมีสูตรผสมที่อาจมียาพาราเซตามอลผสมกับตัวอื่นๆ หากกินยาพาราพร้อมกับยาแก้ปวดสูตรผสมก็อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดโดยไม่จำเป็น เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ต่างๆ

4. ยาพาราเซตามอลกับโรคตับ

  • ผู้ที่ตับไม่ดีอาจเกิดพิษของพาราเซตามอลง่ายขึ้น เนื่องจากความสามารถในการเผาผลาญยาของตับแย่ลง ทำให้เกิดการสะสมสารพิษในตับง่ายขึ้น

5. ยาพาราเซตามอลกับแอลกอฮอล์

paracetamol-vs-alcohol

  • การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยาพาราเซตามอลเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดพิษต่อตับเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งแอลกอฮอล์และพาราเซตามอลจะถูกเผาผลาญผ่านตับทั้งคู่

การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ความเป็นพิษของยาเกิดเร็วขึ้น คือ รับประทานยาขนาดปกติก็อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานทั้งสองอย่างพร้อมกันเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงต่อตับ

6. วิธีรับประทานยาพาราเซตามอลที่ถูกต้อง

ยาพาราเซตามอลควรรับประทานตามน้ำหนักตัว

  • สำหรับพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม
    • น้ำหนักตัว 34–50 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด
    • น้ำหนักตัว 50–67 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง
    • น้ำหนักตัวมากกว่า 67 กิโลกรัม ครั้งละ 2 เม็ด

7. ไม่ควรรับประทานเกินกี่เม็ด?

ยาพาราเซตามอลขนาด 500 mg ถ้าจะให้ดีไม่ควรรับประทานเกิน 2 เม็ดต่อครั้ง และไม่ควรเกิน 6 เม็ดต่อวัน (ไม่เกิน 3250 มิลลิกรัมต่อวัน) เต็มที่ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน (4000 มิลลิกรัมต่อวัน)

8. ยาพาราเซตามอลกัดกระเพาะ?

ยาพาราเซตามอลไม่กัดกระเพาะ เนื่องจากตัวยาไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารเหมือนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ

เนื่องจากยาแก้ปวดในกลุ่มอื่นที่นิยมใช้นั้นสามารถเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะและระคายเคืองกระเพาะจึงควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร แต่สำหรับพาราเซตามอลนั้นไม่ได้กัดกระเพาะเหมือนตัวอื่นๆ

แต่อาการไม่พึงประสงค์เกิดบ่อยที่สุด ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูก

9. ควรรับประทานยาพาราเซตามอลพร้อมอาหารไหม?

ยาพาราเซตามอลสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้ แต่การรับประทานพร้อมอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่า

10. รับประทานยานี้แล้วง่วงไหม?

พาราเซตามอล โดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน อย่างไรก็ตาม ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน แต่มีรายงานอยู่บ้างว่ายานี้ทำให้นอนไม่หลับมากกว่า

11. เวลาออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล

  • เริ่มออกฤทธิ์หลังรับประทานไปประมาณ 30–60 นาที
  • มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ประมาณ 4–6 ชั่วโมง
  • ควรเว้นระยะเวลารับประทานพาราเซตามอลแต่ละครั้งอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เนื่องจากตัวยาเม็ดก่อนยังออกฤทธิ์อยู่ หากรับประทานต่อกันเร็วเกินไปอาจได้รับยาเกินขนาดได้

12. อาการแพ้ยา

การรับประทานพาราเซตามอลแล้วเกิดอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่

ผื่นคันที่ผิวหนัง อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ หายใจลำบาก เช่น หายใจมีเสียงหวีดหรือหายใจถี่ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง และในบางกรณีอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

13. ผู้ที่ต้องระวังการใช้ยานี้

ผู้ที่น้ำหนักตัวน้อย ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นโรคตับ มีภาวะพร่องเอนไซม์จี6พีดี (G6PD) หรือกำลังใช้ยาวาร์ฟาริน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เพราะมีแนวโน้มที่จะต้องปรับขนาดยาลง คือสามารถรับประทานยานี้ได้น้อยกว่าคนปกติ


Reference

  1. Paracetamol Side Effects: Common, Severe, Long Term. Available at: https://www.drugs.com/sfx/paracetamol-side-effects.html (Accessed: 15 December 2024)
  2. Seifert, R. (2018). Basic Knowledge of Pharmacology (Translation from the German language edition). Springer-Verlag Berlin Heidelberg. ISBN 978–3–030–18898–6.
  3. How long does it take for Tylenol to start working?. Available at: https://www.drugs.com/medical-answers/how-long-for-tylenol-start-work-513549/ (Accessed: 15 December 2024)
  4. Tylenol (acetaminophen) dosing, indications, interactions, adverse effects, and more. Available at: https://reference.medscape.com/drug/tylenol-acetaminophen-343346#0 (Accessed: 15 December 2024)
  5. ยาพาราเซตามอล รักษาอาการปวดได้ทุกอย่างจริงหรือ? | โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ Available at: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/paracetamol